ค่ายเยาวชน...รักษ์พงไพร


       มูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ โดย ฯพณฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานกรรมการมูลนิธิฯ และดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เลขาธิการได้ให้นโยบายในการจัดสร้าง สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯให้มีพรรณไม้หลากหลายชนิดและมีระบบนิเวศน์สมบูรณ์ เช่นเดียวกับธรรมชาติของป่าไม้ มีเอกลัษณ์เป็น "ป่าเล็กในเมืองใหญ่" เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้และเห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นพื้นฐานของ การดำรงชีวิต ปลูกจิตสำนึกเยาวชนและประชาชนให้ช่วยกันปกป้องรักษาไว้เพื่อตนเองและชนรุ่นหลังสืบไปตามพระราโชบายของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ องค์ผู้พระราชทานสวนแห่งนี้ให้ประชาชน

ในปี พ.ศ. 2553

      มูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ กรมป่าไม้ ทีมีความเชี่ยวชาญในการอบรมเยาวชนอยู่แล้วที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่า และศูนย์เรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ตามแนวพระราชดำริทั่วประเทศ จัดค่าย "วัยซน...ผจญป่าเล็กในเมืองใหญ่" ขึ้น ณ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ปีละ 2 ครั้ง ในช่วงปิดเทอม สำหรับเยาวชนอายุ 6-12 ปี และในปี 2556 ขยายเป็น 4 ครั้ง เนื่องจากมีเยาวชน และผู้ปกครองให้ความสนใจมากขึ้น
เพื่อให้โครงการค่ายเยาวชนฯ ขยายสู่เยาวชนทั่วประเทศในหลักสูตรเดียวกัน ที่สามารถครอบคลุมทุกด้านในการ ดำรงชีวิตตามพระราชดำริ แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 มูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ กรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ กทม. ได้เชิญนายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ในขณะนั้น) มาสวนสมเด็จฯ เพื่อพิจารณาความพร้อมของแหล่ง เรียนรู้และรับทราบข้อมูลโครงการค่ายเยาวชนฯ ที่ผ่านมาพร้อมทั้งแผนการที่จะดำเนินต่อไป
      วันที่ 26 ธันวาคม 2557 ท่าผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ได้เชิญคณะทำงานในขณะนั้นประกอบด้วย ผู้แทนจากมูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ กรอุทยานฯ กรมป่าไม้ สำนักการศึกษา กทม. ประชุมร่วมกับผู้แทนเลขาธิการ สพฐ. (ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ สวก. สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ และเห็นชอบว่าสามารถดำเนินการอบรมเยาวชนได้ทันที โดยใหช้ศูนย์สวนสมเด็จฯ สำหรับเยาวชนในกรุงเทพฯและปริมณฑล ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าของกรมอุทยาน 21 ศูนย์ และศูนย์การเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ ของกรมป่าไม้ 5 ศุนย์ รวม 27 ศูนย์ที่มีอยู่แล้วทั่วประเทศโดย สพฐ.เข้าร่วมโครงการและมอบหมายให้ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาดำเนินการจัดนักเรียนในพื้นที่ที่ตั้งอยู่ใกล้แต่ละศูนย์ ศูนย์ละ 240 คน โดยประมาณ รวมเยาวชนทั้งสิ้น 6,480 คน พร้อมงบประมาณสนับสนุนส่วนหนึ่งและ แต่ละองค์กรตั้งงบประมาณรองรับอีกส่วนหนึ่ง
      เพื่อให้โครงการที่เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงจากผุ้เชี่ยวชาญ ครอบคลุมทุกด้านและสอดคล้องกับสาระการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานของสพฐ. ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนา วัฒนธรรมและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน มูลนิธิฯ จึงได้เชิญกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และกรมพัฒนาที่ดินเข้าร่วมโครงการ



      โครงการค่าย "เยาวชน...รักษ์พงไพร" จึงได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2558 จากการบูรณาการร่วมกันของ 7 องค์กรหลัก สามารถอบรมเยาวชนได้ 6,549 คน เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนด
      ด้วยความเห็นชอบของ ฯพณฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและประธานมูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญของเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติให้เติบโตขึ้นเป็นคนดีตอบแทนคุณแผ่นดิน จึงได้กรุณามอบเกียรติบัตรให้เยาวชนที่เข้ามาเรียนรู้จากค่าย "เยาวชน...รักษ์พงไพร"ทุกคนเพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจ และจดจำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากค่ายฯ ตลอดไป
      พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อคร้ังที่ท่านดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้ความสนใจโครงการค่าย "เยาวชน...รักษ์พงไพร" และเห็นชอบที่กรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ได้ให้การสนับสนุนโครงการ
      เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ท่านได้มาเยี่ยมสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ศูนย์การเรียนรู้ในกรุงเทพ และปริมณฑลและได้จัดเวลาไปเยี่ยมค่ายต่างจังหวัด ดูความคืบหน้าด้วย เมื่อท่านมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงศึกษาธิการ เรื่องแรกๆ ที่ท่านได้สั่งการให้ สพฐ. เสนอแผนสนับสนุนโครงการค่าย "เยาวชน...รักษ์พงไพร" ให้เป็นโครงการที่ยั่งยืนต่อไปด้วย



      เมื่อค่าย "เยาวชน...รักษ์พงไพร" พ.ศ. 2558 ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อย และประสบผลสำเร็จอย่างดีใน ระดับหนึ่ง มูลนิธิสวนสมเด็จฯ โดย ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เลขาธิการ และนายกสภาสถาบันบัณฑิต พัฒนบริหารศาสตร์ได้วินิจฉัยแล้วว่าเป็นโครงการที่ดี ครอบคลุมทักษะการดำรงชีวิตตามแนวพระราชดำริ จึงได้ มีหนังสือกราบบังคมทูลทรงทราบใต้ฝ่าละอองพระบาท สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อ ทรงมีพระราชวินิจฉัยแล้ว จึงทรงพระมหากรุณาพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้พระนามาภิไธยเป้นชื่อโครงการ ว่า
      โครงการค่าย "เยาวชน...รักษ์พงไพร เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี"
      นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ และเป็นสิริมงคลแก่ค่าย "เยาวชน...รักษ์พงไพร เฉลิมพระเกียรติฯ" และทุกองค์กรร่วม รวมทั้งผู้ที่ร่วมทำงานทุคนที่รวมพลังกันเพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกันเพื่อสร้างเยาวชนให้เป็น ทรัพยากรที่ดีของชาติต่อไป
      เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2558 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณา เสด็จ ฯ มาทอดพระเนตรนิทรรศการมีชีวิตโครงการค่าย "เยาวชน...รักษ์พงไพร เฉลิมพระเกียรติฯ" ที่ได้จัดขึ้นในงาน "สีสรรพรรณไม้ เทิดไท้บรมราชินีนาถ" ณ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เมื่อทอดพระเนตรผลการดำเนิน โครงการตามที่เยาวชนที่ผ่านการอบรมจากค่ายฯ กราบบังคมทูลแล้วทรงพอพระทัย
      เพื่อให้โครงการฯ ที่จะดำเนินการต่อไปปี 2559 เยาวชนได้เรียนรู้กว้างขวางยิ่งขึ้นไปอีก องค์กรร่วมทั้ง 7 ได้เชิญ กรมส่งเสริมการเกษตร และบริษัท ทรู คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)เข้าร่วมโครงการด้วย
      นอกจากนี้กรมป่าไม้ได้เพิ่มศูนย์การเรียนรู้ขึ้นอีกหนึ่งศูนย์ ที่จังหวัดสมุทรปราการ โดยให้ชื่อศูนย์ตามสถานที่ัดค่ายฯ ซึ่งเป็นชื่อสวนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาพระราชทานนามว่า "สวนศรีนครเขื่อขันธ์" ซึ่งเยาวชน จะได้มีโอกาสไปเรียนรู้โครงการพระราชดำริ "โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ" โดยวิทยากรเฉพาะด้านของกรมชลประทาน


      สรุป ในปี พ.ศ. 2559 โครงการค่าย "เยาวชน...รักษ์พงไพร เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตน ราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี" มีองค์กรที่ร่วมบูรณาการ 9 องค์กร และมีศูนย์การเรียนรู้ทั่วประเทศ 28 ศูนย์
วัตถุประสงค์
      1. ให้เยาวชนได้ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่พระราชทานโครงการพระราชดำริมากมาย ล้วนเพื่อประโยชน์สุขของประชชนทั้งสิ้น
      2. เยาวชนมีความเข้มแข็ง สามารถดูแลและพัฒนาตนเองได้ และมีศักยภาพในการเผชิญกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ อันเป็นแนวทางสู่ความมั่นคงและความยั่งยืน ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามปรัชญา "เศรษญกิจพอเพียง"
      3. เยาวชนได้เข้าใจประโยชน์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นรากฐานของประเทศ ที่จะต้องช่วยกันฟื้นฟูและรักษาให้มั่นคงและยั่งยืน เพื่ออนาคตของตนเอง ลูกหลาน ตลอดจนถึงโลกนี้
      4. เยาวชนได้รื้อฟื้นวิถีการดำรงชีวิต วัฒนธรรม และภูมิปัญญาที่ดีงามของท้องถิ่น มีความรู้และทักษะพื้นฐานการเกษตรยั่งยืนในการผลิตอาหารเพื่อการบริโภคและอาชีพ ในการดำรงชีวิต เช่นการแปรรูป การเพาะขยายพันธู์ ซึ่งเป็นวิถีที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และรู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม
      5. เยาวชนได้ปฏิบัติจริง เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญจริง ฝึกฝนทักษะทั้ง 4 ด้าน คือ พุทธิศึกษา จริยศึกษา หัตถศึกษา และพลศึกษา ซึ่งเป็นความรู้และทักษะที่นำไปใช้ในชีวิตจริง และถึงที่สุกสามารถพัฒนาต่อไปได้ด้วยตนเอง

ที่มา : http://eesdinthailand.innoobec.com/?cat=3
รูปภาพ : https://goo.gl/s86BBx

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

โครงการธรรมชาติปลอดภัยแม่แจ่ม กับการริเริ่มแก้ปัญหาหมอกควันเพื่อความยั่งยืน

อีก 1 หมู่บ้านเกษตรกรรมที่น่าสนใจ ณ กำแพงเพชร