โครงการธรรมชาติปลอดภัยแม่แจ่ม กับการริเริ่มแก้ปัญหาหมอกควันเพื่อความยั่งยืน


       เมื่อถึงเดือน มีนาคมของทุกปี สื่อต่างๆ จะต้องจับจ้องไปที่ภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ จะเป็นข่าวเกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่มีการโปรโมทกันอย่างคึกครื้น แต่ระยะหลัง ข่าวที่นำเสนอมีแต่ข่าวปัญหาหมอกควัน ที่ประชาชนในพื้นที่ต้องประสบพบเจอ
      ซึ่งปัญหานี้ นับวันยิ่งหนักขึ้นทุกวัน ค่าฝุ่นละอองในอากาศเกิดมาตรฐานไปเยอะมาก ภาครัฐจึงหันมาเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหานี้ โดยหากมองถึงสาเหตุของการเกิดหมอกควันในเหนือ ที่เห็นได้ชัดก็จะเป็นปัญหาจากภัยธรรมชาติ ความแห้งแล้ง ทำให้กิ่งไม้เสียดสีกันเกิดเป็นไฟป่า, การเผาป่าเพื่อล่าสัตว์หรือหาของป่าของชาวบ้านในพื้นที่, ควันจากการเผาป่าของประเทศเพื่อนบ้าน หรือแม้แต่การเผาไร่ข้าวโพดหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว
      มาตรการในการจัดการกับปัญหาของภาครัฐ คือการบังคับใช้กฎหมาย ห้ามเผา ในช่วงเวลาที่กำหนด และการให้ความรู้และขอความร่วมมือกับชุมชนในพื้นที่ เพื่อการแก้ปัญหาต่างๆ อย่างยั่งยืน ไม่ใช่การแก้ปัญหาแบบไฟไหม้ฟางอย่างที่ผ่านๆ มา
      นอกจากภาครัฐ ที่ต้องมาใส่ใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นนี้แล้ว ภาคส่วนอื่นๆ เองก็เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน หรือภาคมหาวิทยาลัย ซึ่งตัวอย่างของการริเริ่มแก้ไขปัญหาหมอกควันในพื้นที่ ได้แก่ “โครงการธรรมชาติปลอดภัยแม่แจ่ม” ที่มีภาคมหาวิทยาลัยคือ “มหาวิทยาลัยแม่โจ้” ร่วมมือกับภาคเอกชนคือ “เครือเจริญโภคภัณฑ์” หรือ "CP" ริ่เริ่มโครงการที่จะแก้ไขปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนืออย่างจริงจัง และยั่งยืน
      วันนี้ เราจึงอยากนำเสนอโครงการนี้ เพื่อเป็นตัวอย่างความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ


      “อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่หนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าสร้างการเกิดหมอกควันจากการเพาะปลูกข้าวโพด บุกรุกป่า เผาป่า และเผาเศษวัสดุต่าง ๆ ในช่วงมีนาคม-พฤษภาคมของทุกปี ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของคนในชุมชน ธุรกิจการท่องเที่ยว และธุรกิจการบิน
      ปัญหาดังกล่าวจึงทำให้เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พร้อมคนในชุมชนหาทางแก้ไขปัญหา เพื่อมุ่งลดปัญหาหมอกควัน และพัฒนาอาชีพทางเลือกให้แก่คนในพื้นที่

      "เทพนคร เปี่ยมเพ็ชร์" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด เล่าย้อนให้ฟังว่า อ.แม่แจ่มเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดมากเป็นอันดับต้น ๆ ของ จ.เชียงใหม่ เพื่อการยังชีพ เพราะข้าวโพดเป็นพืชที่ปลูกง่าย ปลูกได้ในพื้นที่สูง และขายได้

      "แม่แจ่มมีพื้นที่เกษตร 14% ที่เหลือเป็นพื้นที่ป่า และชุมชน ในอดีตเราเคยไปส่งเสริมการปลูกข้าวโพดในพื้นที่ เพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่มีดินดี และต้องการสร้างรายได้ให้คนในชุมชนด้วยการประกันราคารับซื้อ เราจึงตกเป็นจำเลยที่ทำให้เกิดปัญหาหมอกควัน แต่ข้อเท็จจริงพบว่าเราทำการส่งเสริมเพียง 2,000 ไร่ จากพื้นที่กว่าแสนไร่ที่ชุมชนปลูกให้บริษัทอื่น ๆ ด้วย และส่วนหนึ่งของการเผาเป็นการเผาวัชพืชเพื่อเตรียมปลูกพืชอื่น ๆ ต่อไป ไม่ใช่เพียงเผาตอซังข้าวโพด"

      "แต่หลังจากเกิดปัญหานี้ เราจึงยกเลิกส่งเสริมปลูกข้าวโพดในพื้นที่ดังกล่าว พร้อมกับคิดหาวิธีช่วยเหลือคนในชุมชนไม่ให้ขาดรายได้ ทั้งนั้นเพื่อจะได้เกิดผลดีต่อทุกฝ่าย สร้างความยั่งยืน วัดผลได้ และสามารถเป็นแบบอย่างต่อชุมชนอื่น เราจึงปรึกษาทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จนเกิดเป็นโครงการธรรมชาติปลอดภัยแม่แจ่ม"


     วัตถุประสงค์การดำเนินโครงการจะต้องสามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต สร้างรายได้ให้เพียงพอ ลดการพึ่งพิงป่า ลดการเผา สามารถนำเอาวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรมาทำให้เกิดประโยชน์ และมุ่งสู่ชุมชนแห่งการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และชุมชนต่อการเที่ยวเชิงนิเวศชุมชนในอนาคต

      "ผศ.ดร.สมเกียรติ ชัยพิบูลย์" ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์และพยากรณ์ทางการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า โครงการธรรมชาติปลอดภัยแม่แจ่มเริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2555 ด้วยแนวคิด "ระเบิดจากข้างใน" จากการสนับสนุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์

      จากความมุ่งหมายที่ต้องการให้ชาวบ้านมีรายได้ตลอดทั้งปี ลดการพึ่งพิงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยการเผาป่า รุกป่า จึงได้พัฒนาอาชีพแก่คนในพื้นที่ 3 หมู่บ้านใน อ.แม่แจ่ม คือ บ้านแม่ปาน บ้านดอยสันเกี๋ยง และบ้านใหม่ปูเลย รวมกว่า 300 ครัวเรือน เพื่อสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสมดุล


     "เริ่มจากการจัดเวทีชุมชนรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกในชุมชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และกลุ่ม NGO ในพื้นที่ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาหมอกควัน และหาวิธีการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด ซึ่งวิธีการดำเนินการโครงการธรรมชาติปลอดภัย ใช้รูปแบบการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน โดยการดำเนินงานนั้นยึดหลัก 3 ประการ คือ เข้าใจ, เข้าถึง, พัฒนา"

      สิ่งสำคัญคือการทำงานต้องไม่ใช้เงินเป็นที่ตั้ง ต้องใช้ความจริงที่สมเหตุสมผล และพลังความสามัคคี ความเข้มแข็ง ของผู้นำ และสมาชิกในชุมชนเป็นกลไกในการขับเคลื่อน

      จากการรับฟังปัญหา และความต้องการจากชาวบ้านพบว่าน้ำคือคำตอบของการพัฒนาอาชีพของชาวบ้าน โครงการธรรมชาติปลอดภัยจึงให้การสนับสนุนการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำแก่ชาวบ้าน ภายใต้การสนับสนุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ และภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้

 

      "เราเริ่มพัฒนาแหล่งน้ำเป็นก้าวแรก ด้วยการสร้างบ่อพ่วงสันเขากว่า 40 บ่อ ทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ เพื่อกักเก็บน้ำไปใช้ในการเกษตรแก่ชุมชน เมื่อมีน้ำแล้วขั้นตอนต่อมาคือการสร้างอาชีพ เมื่อมีน้ำพอเพียงก็สามารถปลูกพืชอื่น ๆ ได้"

      ปัจจุบันโครงการพัฒนามาสู่การวางแผน 2 ระยะ คือ แผนระยะสั้น-ระยะกลาง ได้แก่ การปลูกพืชทางเลือกที่มีตลาดรองรับแน่นอน เช่น ผักกาด กะหล่ำปลี และถั่วฝักยาว พร้อมทั้งส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ สุกร ปัจจุบันชาวบ้านในโครงการร่วมกันจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนชื่อว่ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติปลอดภัย เพื่อเป็นช่องทางจัดจำหน่ายผลผลิตด้วย

      นอกจากนี้ ยังมีการเพาะเห็ดจากตอซังข้าวโพด เพื่อช่วยแก้ปัญหาการเผาตอซังข้าวโพด ซึ่งเป็นการนำองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้มาขยาย โดยมีโรงเรียนประชานุเคราะห์ 31 อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เป็นศูนย์เรียนรู้ เผยแพร่วิธีทำให้แก่ชาวบ้าน จนขยายผลไปพื้นที่อื่น ๆ


      แผนระยะยาว ได้แก่ สนับสนุนการปลูกผลไม้ ไม้ยืนต้น เช่น ลำไย เงาะ และพัฒนาชุมชนเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ก่อนหน้านี้ได้สนับสนุนการสร้างหอคอยเฝ้าระวังไฟใจกลางพื้นที่เสร็จแล้ว ที่นอกจากใช้เฝ้าระวังไฟ ยังสามารถให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปชมทิวทัศน์ที่สวยงามของ อ.แม่แจ่มอีกด้วย

      นับเป็นโครงการที่วิเคราะห์ปัญหา หาทางแก้ไข โดยให้ความสำคัญกับการรับฟังความต้องการของชุมชน และสร้างความร่วมมือของหลายฝ่าย เพื่อแก้ปัญหาอย่างตรงจุด”

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ค่ายเยาวชน...รักษ์พงไพร

อีก 1 หมู่บ้านเกษตรกรรมที่น่าสนใจ ณ กำแพงเพชร