เมื่อเราถามพ่อว่า “ตำรวจจะทำอาชีพเสริมอะไรได้บ้าง?”

เมื่อเราถามพ่อว่า “ตำรวจจะทำอาชีพเสริมอะไรได้บ้าง?”


      เราโตมากับครอบครัวตำรวจ ทุกสิ่งทุกอย่างจึงถูกสั่งสอนให้อยู่ในกฎระเบียบต่างๆ มากมาย แต่ด้วยความที่เราเป็นคนไม่ชอบการถูกบังคับ เลยทำให้เป็นคนเอาแต่ใจตัวเองมาตลอด ถามว่าแล้วพ่อเราทำยังไง ก็ได้แต่ทำใจ เพราะดุเรา ว่าเรา หรือตีเรา เราก็ไม่ชอบสิ่งต่างๆ ที่พ่อวางแผนไว้ให้เราอยู่ดี
      จนกระทั้งเมื่อถึงช่วงเรียนจบมัธยม ครอบครัวเราก็บอกให้เราไปสอบเพื่อเข้ารับราชการ เพราะครอบครัวเรารับราชการมาทั้งบ้าน แต่ก็อีกนั่นแหละ ที่เรารู้ๆ มา การเข้ารับราชการเงินเดือนมันน้อย (ไม่รวมข้าราชการระดับสูง หรือการทุจริตต่างๆ) จะเอาอะไรกินในช่วงเข้ารับราชการใหม่ๆ ยิ่งตำรวจ โดนด่า แถมเงินน้อยอีก
      เมื่อเราถาม พ่อเราก็ยังไม่สามารถตอบเราได้ ว่าจะทำยังไง แต่มันก็เกิดคำถามในใจมาตลอดว่า ตำรวจไทย จะทำอาชีพเสริมอะไรดีที่มีเวลาพอที่จะทำงานประจำ และทำอาชีพเสริมด้วย
      มาถึงตอนนี้ เราทำงานเป็นพนักงานบริษัทเอกชน ฐานะก็พอจะมั่นคงอยู่บ้าง ถึงจะมีเงินเก็บไม่มากไม่มาย ส่วนพ่อเรา ตอนนี้ก็ยศร้อยตำรวจโทแล้ว อีกไม่กี่ปีท่านก็จะเกษียณ แต่ท่านก็ไม่มีอาชีพเสริม หรือรายได้อื่นๆ ที่จะมาซัพพอร์ตหลังเกษียณเลยนะ เราเลยนึกขึ้นได้ว่า เรายังไม่ได้คำตอบเลยว่า จะมีอาชีพอะไรที่จะมีรายได้มาเสริมในส่วนนี้ได้ ถึงแม้พ่อเราอาจจะทำไม่ไหวแล้ว แต่ยังก็ยังค้างคาใจมานาน ก็ลองหาข้อมูลดูสักหน่อย
      จนมาเจอข้อมูลของ “หมู่บ้านเกษตรกรรมเกษตรสันติราษฎร์” เราถึงกับงง ว่ามันมีแบบนี้ด้วยเหรอ ทำไมเราอยู่มาตั้งนาน ไม่เห็นรู้จักเลย แล้วทำไมถึงไม่เป็นที่แพร่หลาย ไม่เห็นมีครอบครัวตำรวจ ครอบครัวอื่น ที่จังหวัดอื่นทำบ้างเลย เราเลยอยากนำข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มาแนะนำเพื่อนๆ เผื่อมีครอบครัวตำรวจ หรือใครก็ตาม ที่อยากมีรายได้เสริมจากงานประจำลองทำดู


      “หมู่บ้านเกษตรกรรมเกษตรสันติราษฎร์” ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ซึ่งก่อนหน้านี้ พื้นที่ตรงนี้มีแต่ความแห้งแล้ง โดยหมู่บ้านนี้ เป็นการร่วมมือกันของ 4 หน่วยงานคือ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ธนาคารทหารไทย และสถานีตำรวจภูธรอำเภอเกาะจันทร์ จังหวัดชลบุรี จัดทำ”โครงการหมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์” ขึ้น เมื่อปี 2548 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือข้าราชการชั้นผู้น้อย ที่มีรายได้น้อย ให้มีรายได้เสริมและมีโอกาสประกอบธุรกิจทางเกษตรกรรมหลังเกษียณอายุราชการ
      ในพื้นที่ 230 ไร่ของโครงการ "หมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์" แบ่งเป็น 2 ส่วน คือเป็นที่อยู่อาศัยของตำรวจที่ร่วมโครงการทั้ง 31 ครอบครัว ให้ครอบครัวละ  1 ไร่ครึ่ง หรือ 600 ตารางวา ประกอบด้วยบ้านพัก 2 ชั้น 1 หลัง เล้าไก่พื้นเมือง 1 หลัง พื้นที่เหลือสมาชิกปลูกไม้ผลสุดแต่ใครจะปลูกอะไรก็ได้ รวมพื้นที่แล้ว 50 ไร่ ส่วนที่ 2 ใช้สำหรับดำเนินธุรกิจที่สร้างรายได้ มีพื้นที่ทั้งหมด 180 ไร่ ประกอบด้วยหน่วยธุรกิจต่างๆ ที่ซีพีเอฟเข้าไปสนับสนุนอาชีพด้านการเกษตร มี จักรภพ บุญกว้างเป็นผู้ดูแล ในพื้นที่ 97 ไร่ ซึ่งจักรภพ บอกว่า กิจกรรมทางการเกษตรนั้นมีไร่องุ่น และผักปลอดสารพิษ ที่ปลูกในระบบโรงเรือน มีทั้งหมด 56 โรงเรือน เป็นองุ่นไร้เมล็ดสายพันธุ์แบล็คโอปอร์ มีผลทรงกลมสีดำ กรอบ เนื้อแน่น รสหวานชื่นใจ และพันธุ์ลูส เพิลเล็ท มีผลทรงกลม สีเหลืองทอง กรอบ หวานอร่อย มีทั้งหมด 10 โรงเรือน ปัจจุบันผลองุ่นขายปลีกราคากิโลกรัมละ 200 บาท ส่วนผักปลอดสารพิษนั้นมีกะเพรา กวางตุ้ง และมะเขือเทศ ส่วนนี้สร้างรายได้ให้แก่ตำรวจที่เป็นสมาชิกครอบครัวละ 1.8 หมื่นบาทต่อเดือนตามที่รับประกันไว้ โดยซีพีเอฟเป็นผู้ดำเนินการ

      พื้นที่เหลืออีก 56 ไร่ เป็นพื้นที่โรงเรือนเลี้ยงสุกร ประกอบด้วยโรงเรือนสุกรอนุบาล 4 หลัง และโรงเรือนสุกรขุน 6 หลัง อีกส่วนเป็นบ่อหมักก๊าซชีวภาพ เพื่อบำบัดของเสียจากมูลสุกรและนำก๊าซชีวภาพมาใช้ภายในโครงการ ในส่วนนี้ทำให้สมาชิกมีรายได้เดือนละ 4,700 บาทต่อครอบครัว และสุดท้ายพื้นที่เหลืออีก 13 ไร่เป็นพื้นที่ก่อสร้างบ่อเลี้ยงกบ มีทั้งหมด 168 บ่อ เลี้ยงกบนาบ่อละ 3,000 ตัว สร้างรายได้ให้แก่ตำรวจที่เป็นสมาชิกเดือนละ 4,000 บาทต่อครอบครัว

      ด.ต.ชาญกิจ เสนทา อายุ 61 ปี อดีต ผบ.งานสืบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอเกาะจันทร์ บอกว่า การตัดสินใจร่วมโครงการหมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์นั้น เกิดมาจากช่วงที่เป็นข้าราชการตำรวจ อยากมีที่ดินเป็นของตัวเองสักหนึ่งแปลงไว้ทำการเกษตรเล็กๆ น้อยๆ หลังจากเกษียณอายุราชการ แต่นึกถึงลำพังรายได้ของตำรวจชั้นผู้น้อยซึ่งมีไม่มากคงไม่ง่ายนัก พอดีซีพีเอฟเข้ามาดำเนินโครงการเพื่อช่วยให้เพิ่มรายได้แก่ตำรวจ เห็นว่าน่าจะดีจึงตัดสินใจร่วมโครงการมาตั้งแต่แรก หลังจากนั้นใช้เวลาว่างจากการปฏิบัติหน้าที่มาต่อเติมบ้าน ปลูกมะม่วง ขนุน มะปราง ในพื้นที่รอบๆ บ้านพัก ขณะนี้เพิ่งออกผลผลิตจึงยังไม่สามารถนำไปขายได้ แต่รายได้เสริมที่ชัดเจนคือมาจากการเลี้ยงไก่พื้นเมืองพันธุ์ไก่ชน เริ่มแรก 10 ตัว สร้างรายได้อย่างน้อยเดือนละ 3,000 บาท ปัจจุบันเลี้ยงไว้กว่า 30 ตัว หากคำนวณรายได้ตัวละ 300 บาท
      "ตอนนี้โครงการต่างๆ ทางซีพีเอฟเป็นผู้ดำเนินการ จะแบ่งส่วนกำไรมาให้เป็นรายเดือน เป็นรายได้ที่แน่นอน จึงนำเป็นค่าผ่อน ตรงนี้ไม่เดือดร้อน แต่เราก็มีรายได้เล็กๆน้อยๆ จากการเลี้ยงไก่พื้นเมืองพันธุ์ไก่ชน ซึ่งซีพีจะเป็นผู้นำอาหาร ฉีดยา และแนะนำวิธีการเลี้ยงให้ทุกอย่าง เราแทบไม่ลงทุนเลย พอไก่ถึงอายุ ทางซีพีเอฟก็มารับซื้อทั้งหมดในราคาตัวละ 300 บาท ตรงนี้มีรายได้แน่นอน และทุกบ้านด้วย" ด.ต.ชาญกิจกล่าว

      มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสนใจขึ้นมาบ้าง รวมถึงเราด้วย ซึ่งเราได้คุยกับพ่อของเราบ้างแล้ว เกี่ยวกับโมเดลนี้ อีกทั้งเรายังมีที่อยู่แถวๆ ฉะเชิงเทรา อาจจะเอาที่ที่เคยซื้อไว้ตรงนั้น มาลองทำดู มันอาจดูตื้นเขินนัก ที่เห็นแล้วคิดว่ามันง่าย เราเข้าใจว่ามันคงไม่ง่ายอย่างที่คิด แต่อย่างน้อยเราก็จะลองพยายามดูให้ดีที่สุด
      ใจความสำคัญของการนั่งเขียนบทความนี้ของเรา แค่ต้องการให้ทุกคนเห็นว่า ประเทศไทยคือประเทศแห่งเกษตรกรรม ถ้าคิดอะไรไม่ออก เรายังสามารถที่จะทำการเกษตร เพื่อเป็นราชได้เสริมกับเราได้ ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงสัตว์ หรือการเพาะปลูกพืชสวนต่างๆ ขอเพียงแต่เราต้องการที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น อยู่แบบยั่งยืนในสังคมไทยต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง : http://www.komchadluek.net/news/local/124505
รูปภาพจาก : internet

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ค่ายเยาวชน...รักษ์พงไพร

โครงการธรรมชาติปลอดภัยแม่แจ่ม กับการริเริ่มแก้ปัญหาหมอกควันเพื่อความยั่งยืน

อีก 1 หมู่บ้านเกษตรกรรมที่น่าสนใจ ณ กำแพงเพชร